ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome)


หากมีอาการข้างต้นล่ะก็ คุณกำลังเข้าข่ายโรคที่เรียกว่า โรคลำไส้แปรปรวน หรือ Irritable Bowel Syndrome : IBS  ซึ่ง เป็นโรคของลำไส้ที่ทำงานผิดปกติ แต่พอตรวจดูกลับไม่พบความผิดปกติใดๆ ที่ลำไส้ ไม่ว่าจะทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ หรือตรวจเลือดผิดปกติ    โดยตรวจพบมากในคนวัยทำงานที่มีอายุ 30-50 ปี แต่ในปัจจุบันโรคดังกล่าวกำลังขยายผลไปยังกลุ่มวัยรุ่นเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น …

ผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน มักจะมีอาการปวดท้อง อาจปวดตรงกลางหรือปวดบริเวณท้องน้อย โดยทั่วไปจะปวดท้องน้อยด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา ลักษณะอาการปวดมักจะปวดแบบเกร็ง มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด อาการจะไม่สัมพันธ์กับอาหาร นอกจากนี้จะมีอาการท้องโตขึ้นเหมือนมีลมในท้อง อาจมีอาการเรอหรือผายลมมากขึ้น และมีอาการถ่ายไม่ปกติ บางรายมีอาการท้องผูก บางรายท้องเสีย หรือในบางรายอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสียก็ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด หรือมีอาการปวดเบ่งแต่เมื่อถ่ายอุจจาระแล้วอาการดีขึ้น มักมีอุจจาระเป็นมูกร่วมด้วยได้ อาการต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการมากน้อยสลับกันได้ จะมีอาการเกิน 3 เดือน ในระยะเวลา 1 ปี

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอนของโรคลำไส้แปรปรวน แต่จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ มี 3 อย่างที่สำคัญได้แก่

การบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ เป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนที่ผิดปกติบางอย่างในผนังลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสียได้

ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการได้แก่ อาหารเผ็ด กาแฟ แอลกอฮอล์ทุกชนิด ช็อกโกแลต เป็นต้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นก็ทำให้ผนังลำไส้บีบตัวผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสียได้

มีความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของลำไส้ ระหว่างประสาทรับความรู้สึกที่ผนังลำไส้ ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง โดยเกิดจากความผิดปกติของสารที่ควบคุมการทำงานของลำไส้ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด

ความเครียดเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลทำให้โรคลำไส้แปรปรวนแสดงอาการรุนแรงมากขึ้น เพราะเมื่อเครียดสมองจะมีการหลั่งสารบางอย่างออกมาส่งผลให้ลำไส้แปรปรวน ยิ่งในยุคปัจจุบัน ทั้งสภาพเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมยังเป็นตัวกระตุ้นให้คนเกิดความเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีชีวิตประจำวันที่เครียด ทำงานดึก พักผ่อนน้อย วันหนึ่งนอนไม่กี่ชั่วโมง และใช้สมองในการคิดการทำงานค่อนข้างมาก ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีบุคลิกค่อนข้างขี้โกรธ หงุดหงิดง่าย และไม่ได้ออกกำลังกายจะเกิดโรคลำไส้แปรปรวนได้ง่ายมากขึ้น

ปัจจุบัน ยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการหลายอย่างร่วมกัน ยาที่ใช้มักจะทำให้อาการบางอย่างดีขึ้นเท่านั้น การรักษาด้วยยา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการให้ยาที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย แต่การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยจะช่วยให้อาการของโรคนี้ดีขึ้นได้

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนมีอาการดีขึ้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้คือ ควรรับประทานอาหารช้า ๆ และไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน เนื่องจากไขมันจะเป็นตัวกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ หากผู้ป่วยมีอาการท้องผูกร่วมด้วย ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้เพียงพอและฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนชนิดท้องเสีย หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้น อาทิ กาแฟ อาหารหวานจัด ผลไม้รสเปรี้ยวบางชนิด อาหารรสเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และน้ำอัดลม เป็นต้น และหากผู้ป่วยมีภาวะเครียดร่วมด้วย ควรหาทางผ่อนคลาย หาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ในบางรายที่มีปัญหาทางจิตใจค่อนข้างมาก …

(จาก นสพ. ไทยรัฐ)

ใส่ความเห็น